พบกับเลลา
ตอนนี้คือปี 2025 และเธอทำงานจากบ้านสัปดาห์ละ 4 วัน มันเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ปี 2020 แล้ว
ขณะนี้คือเวลา 06:30 น. และเธอกำลังเดินทางไปทำงาน
เลลาเดินทางถึงอาคารสำนักงานเวลา 07:00 น. เวลาเข้างานของบริษัทที่เธอทำงานอยู่ถูกจัดให้เหลื่อมล้ำกัน เพื่อลดจำนวนคนที่จะมาถึงอาคารพร้อม ๆ กัน
"วันเข้าออฟฟิศ" ของเลลาส่วนใหญ่เป็นการมาประชุม ส่วนวันที่ไม่ได้เข้าสำนักงาน เป็นวันที่เธอทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งเธอสามารถทำจากที่บ้านได้
แต่ก่อนบริษัทนายจ้างของเลลาเคยใช้พื้นที่อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ร่วมกับอีกหลายบริษัท แต่ตอนนี้พวกเขาย้ายไปอยู่สถานที่ตกแต่งใหม่ขนาดเล็กกว่าของตัวเอง
ที่ชั้นล่างของสำนักงาน เลลาหยุดอยู่ที่เครื่องวัดความร้อนของร่างกาย เพื่อตรวจว่าอุณหภูมิร่างกายเธออยู่ในระดับปกติหรือไม่ วันนี้วัดได้ 36.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าผ่าน
กล้องตัวหนึ่งใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อยืนยันว่าเธอคือพนักงานของบริษัท และเครื่องกั้นทางเข้าออกก็เปิดให้เธอ โดยที่เลลาไม่ต้องแตะต้องกับอะไรเลย เพราะเธออยู่ใน "ทางเดินไร้สัมผัส" (contactless pathway)
ลิฟต์ไปสู่สำนักงานของเธอที่ชั้น 4 เป็นระบบสั่งการด้วยเสียง ซึ่งเทคโนโลยีไร้การสัมผัสได้ถูกนำมาแทนที่ปุ่มกดที่สกปรก และมีการจำกัดผู้โดยสารไว้ที่ครั้งละ 2 คน
ที่ชั้น 4 เลลาเดินไปตามโถงทางเดินและเข้าประตูที่มีความกว้างกว่าในยุคก่อน ซึ่งช่วยให้พนักงานเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ และลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อสู่กัน
ที่ประตูทางเข้า เลลาใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างมือ ตอนนี้เธอชินกับการใช้มันมากจนทำไปตามอัตโนมัติโดยที่แทบจะไม่ได้คิดถึงมันเลย
เลลานั่งประจำที่ของเธอ เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ รวมทั้งแผ่นผนังด้านใน และด้านนอกของอาคาร ต่างทำจากวัสดุต้านเชื้อโรค ซึ่งง่ายต่อการทำความสะอาด และทำให้เชื้อแบคทีเรียเกาะติดได้ยากขึ้น
เลลาชงกาแฟที่บริเวณห้องครัวซึ่งพื้นผิวต่าง ๆ ก็ทำจากวัสดุต้านเชื้อโรค บริเวณมือจับที่ลิ้นชักและตู้เก็บของต่าง ๆ ทำจากทองแดง ซึ่งแม้จะมีราคาสูงแต่ก็เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้
ส่วนระบบปรับอากาศในสำนักงานก็ใช้แสงยูวีในการฆ่าเชื้อโรค มันยังช่วยลดความชื้นและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนขึ้น ระบบนี้จะทำงานตอบสนองต่อข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ทั่วอาคาร และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่พนักงานสวมใส่อยู่
สำนักงานของเลลาเคยเป็นแบบเปิดโล่ง แต่ปัจจุบันมีการแบ่งแยกพื้นที่จากพนักงานคนอื่น โดยด้านซ้ายมือของเธอมีฉากกั้นพลาสติกใสเพื่อให้เธอมองเห็นเพื่อนร่วมงานได้ ฉากที่ว่านี้สามารถเคลื่อนย้าย และใส่สลักยึดติดกับพื้นได้ ฉากเหล่านี้ยังสามารถติดตั้งให้สูงขึ้นในกรณีที่มีความเสี่ยงของโรคระบาด และสามารถถอดออกได้หากมีความเสี่ยงลดลง
ที่ด้านหน้าของโต๊ะทำงานเลลา มีการนำต้นไม้มากั้นแบ่งพื้นที่ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วพนักงานเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการมีแต่พลาสติกอยู่ทุกที่ พวกเขาบอกว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนเลลาเองก็ชอบต้นไม้มากกว่า
เลลาใช้เวลาช่วงเช้าในการประชุมเกี่ยวกับโครงการใหม่ มันเป็นการประชุมแบบพบหน้ากับเพื่อนร่วมงาน แต่ทุกคนจะอยู่ห่างกันในระยะที่ปลอดภัย เหตุผลเดียวที่เลลาเข้าออฟฟิศในปัจจุบันคือเพื่อร่วมการประชุมแบบนี้ เพราะการพบปะกันแบบเห็นหน้าค่าตากันจริง ๆ จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการประชุมทางออนไลน์
ขณะนี้เวลา 16:00 น. ซึ่งเป็นเวลากลับบ้าน เลลาย้ายออกไปอยู่แถบชานเมืองกับเพื่อนคนหนึ่งหลังการล็อกดาวน์เมื่อปี 2020 มันเป็นการเดินทางระยะไกลกว่า แต่เธอก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการเดินทางสัปดาห์ละหนึ่งวันเท่านั้น
บ้านหลังใหญ่ขึ้นแปลว่ามีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ตอนที่มีการล็อกดาวน์ เลลาคิดว่าเธอจะต้องทำงานจากบ้านแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น และเธอจะสามารถทำได้โดยใช้แล็ปท็อปนั่งทำงานที่โต๊ะในห้องครัว
แต่เมื่อเวลาล่วงเลยจากสัปดาห์เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เลลารู้ดีว่าเธอจะต้องมีห้องทำงานเป็นกิจจะลักษณะอยู่ที่บ้าน และอะพาร์ตเมนต์ที่เดิมของเธอก็ไม่ใหญ่พอจะทำได้
ตอนนี้เธอทำงานอยู่ห้องชั้นบน ซึ่งมีโต๊ะทำงานตัวใหม่ที่สามารถปรับระดับสูงต่ำให้สามารถยืนทำงานได้ และมีเก้าอี้สำนักงานที่สามารถปรับได้ รวมทั้งที่สำหรับเก็บเอกสาร
เลลาไม่เคยรู้มาก่อนว่าการมีแสงสว่างที่เพียงพอนั้นสำคัญเพียงใด เธอจึงติดตั้งไฟส่องเฉพาะจุดที่เพดาน และซื้อโคมไฟตั้งโต๊ะดี ๆ ไว้ใช้ตัวหนึ่ง
ตอนนี้เลลากำลังออมเงิน เพื่อเปลี่ยนหน้าต่างไปเป็นแบบที่เป็นกระจกฉนวนสองชั้น เพราะบ้านของเธออยู่ใกล้ถนนใหญ่ และเธอจำเป็นต้องใช้สมาธิในการทำงาน ซึ่งอุปกรณ์กันเสียงเป็นอีกเรื่องที่เลลาไม่เคยคิดถึงมาก่อนว่าจะมีความสำคัญ
ก่อนหน้านี้ เลลาเคยคิดเรื่องการต่อเติมห้องใต้หลังคาและการสร้างห้องทำงานในสวน แต่เธอตัดสินใจใช้พื้นที่ในห้องนอนแบ่งเป็นที่ทำงานไปก่อนในตอนนี้
มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับเลลา และผู้คนแบบเธออีกหลายล้านคน
ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไป
ในขณะที่เลลาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเธอไปอย่างรวดเร็วหลังเกิดโรคระบาด แต่ในความเป็นจริง งานสถาปัตยกรรมกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ อาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มักใช้เวลา 5 ปี ในการออกแบบ หาเงินทุน และก่อสร้าง
หลายคนไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะย้ายบ้าน หรือลงทุนปรับปรุงบ้าน และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย นายจ้างจำนวนมากก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะโยกย้ายสถานที่หรือจัดระบบใหม่ในสำนักงาน
หากโควิด-19 หมดไปจากโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หรือมีการค้นพบวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว บ้านและสำนักงานหลายแห่ง อาจกลับไปสู่สภาพที่เหมือน "ปกติ"
แต่แนวคิดเรื่องชีวิตในอนาคตแบบของเลลาก็อาจกลายเป็นความจริงสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวิกฤตโรคระบาดยังคงดำเนินต่อไป และยังคิดค้นวัคซีนไม่สำเร็จ
แรงกดดันทางการเงินต่อความเปลี่ยนแปลง
สถาปนิกหลายคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่การทำงานจากบ้านจะเป็นผลกระทบใหญ่ที่สุดที่โรคโควิด-19 มีต่อสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environment)
เพราะอะไร? คำตอบสั้น ๆ คือ "เงิน" นั่นเอง ศาสตราจารย์ เดวิด เบอร์นีย์ อดีตกรรมาธิการสถาปัตยกรรมสาธารณะของนครนิวยอร์กในสมัยที่ นายไมเคิล บลูมเบิร์ก เป็นนายกเทศมนตรี อธิบาย
"บริษัททั้งหลายสามารถตัดลดค่าใช้จ่ายเรื่องพื้นที่สำนักงานได้อย่างมากโดยการเพิ่มจำนวนพนักงานที่ทำงานจากบ้าน และพวกเขาจะทำเช่นนั้น" ศาสตราจารย์ เบอร์นีย์ กล่าว
"เราเริ่มเห็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อยู่ในภาวะตื่นตระหนก เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่าความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานกำลังลดลง"
ออกนอกเมือง
นายฮิวจ์ เพียร์แมน จากสถาบันสถาปนิกแห่งอังกฤษ กล่าวว่า "ผมคิดว่าเราอาจได้เห็นอาคารที่มีอยู่หลายแห่งขายไม่ออก"
พื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบนตึกสูงซึ่งดัดแปลงแก้ไขได้ยาก กำลังได้รับความสนใจน้อยลงอยู่แล้วในปัจจุบัน
"และยังมีแรงกดดันในการออกไปจากเขตเมือง" นายเพียร์แมน ระบุ
โดยเขาชี้ว่า ความกังวลเรื่องสุขภาพเคยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในโครงการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมมาแล้วในอดีต
ความหวั่นวิตกเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและคุณภาพอากาศที่ไม่ดี ได้ทำให้ประชากรย้ายออกไปจากพื้นที่ใจกลางเมืองในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 และการขยายตัวของย่านชานเมืองก็เป็นผลโดยตรงจากปัจจัยดังกล่าว
ทำให้บ้านเป็นที่ทำงาน
น.ส.เกรซ ชอย สถาปนิกในสหราชอาณาจักร ระบุว่า หากมุมมองเรื่องบ้านในยุคก่อนโควิดคือสถานที่สำหรับการผ่อนคลายและการเติมพลังหลังจากการทำงาน บ้านในยุคหลังโควิดจะกลายเป็นทั้งที่พักอาศัยและสถานที่ทำงาน
"คนจำนวนมากจะต้องการพื้นที่ใช้สอยในบ้านสำหรับทำงานมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็พื้นที่อเนกประสงค์ที่พวกเขามีอยู่ เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ของเราอย่างชาญฉลาดขึ้น"
น.ส.ชอย บอกว่า ปัจจุบันสำนักงานของเธอมีผู้รับเหมาสร้างบ้านสอบถามเข้ามามากขึ้นเกี่ยวกับการสร้างบ้านที่มีพื้นที่สำนักงาน และสตูดิโอทำงานในสวน เพราะผู้คนพบว่าการนั่งทำงานกับแล็ปท็อปบนโต๊ะในครัวเป็นเวลานาน ๆ เป็นเรื่องที่ลำบาก
อย่างไรก็ตาม การทำงานจากบ้านอาจไม่เหมาะสำหรับงานหลายประเภท และสำนักงานอีกจำนวนมากจะยังคงเปิดใช้งานต่อไป ซึ่งเหล่าสถาปนิกมองว่าความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้สำนักงานเหล่านี้ยังคงมีประโยชน์อยู่ต่อไป
เทคโนโลยีไร้สัมผัส
นายเดล ซินแคลร์ สถาปนิก และผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมของ AECOM บริษัทด้านการออกแบบและการจัดการชื่อดัง กล่าวว่า "การนั่งทำงานหลังขดหลังแข็งกับแล็ปท็อปอยู่ที่สำนักงานนั้นหมดยุคแล้ว เพราะคุณสามารถทำได้จากบ้าน"
"สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือการได้เข้าออฟฟิศเพื่อการประสานงาน และร่วมออกความคิดกับบรรดาเพื่อนร่วมงาน"
นายซินแคลร์ คือหนึ่งในสถาปนิกที่คาดการณ์ถึงสำนักงานที่มีระบบส่วนใหญ่ทำงานโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะ "เทคโนโลยีไร้สัมผัส" (touchless technology) หรือ "ทางเดินไร้สัมผัส" (contactless pathway) และการใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลมากขึ้น
"อาคารจะใช้เทคโนโลยีมากมาย ผู้คนจะใช้โทรศัพท์ในการผ่านเข้าไปในอาคาร เทคโนโลยีจดจำใบหน้า การสั่งการทำงานด้วยเสียง และเราจะได้เห็นผู้ช่วยที่เป็นหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น รวมทั้งตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับข้อมูล" นายซินแคลร์ บอก
"เทคโนโลยีด้านนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีนี้อยู่แล้วตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และโรคโควิด-19 ก็ช่วยเร่งให้มีการนำไปใช้ในสถานที่อื่น ๆ ด้วย"
ข้อมูลจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งประจำจุด หรือชนิดที่สวมใส่ได้จะใช้ในการปรับอุณหภูมิและความชื้นในอาคารเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
ขณะที่ในปัจจุบันมีการใช้ระบบปรับอากาศที่ใช้แสงยูวีฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสบางชนิดอยู่บ้างแล้ว
สำนักงานแบบเปิดโล่งจะอยู่ต่อไปได้ไหม
ข้อเสียของสำนักงานที่มีพื้นที่เปิดโล่งเห็นได้ชัดเจนมากในภาวะที่เกิดโรคระบาด
แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่าสำนักงานรูปแบบนี้อาจยังอยู่รอดได้ต่อไป หากมีการใช้มาตรการจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ปัจจัยดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกพื้นที่ทำงานให้เป็นสัดส่วน
โดยใช้แผ่นกั้นพลาสติกใสที่สามารถติดตั้งและถอดออกได้ง่าย เพื่อให้พนักงานยังสามารถมองเห็นเพื่อนร่วมงานได้
นายเบน แชนนอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะจากบริษัทสถาปัตยกรรมAssael Architecture ในอังกฤษ กล่าวว่า "เราสามารถใช้ทิวแถวต้นไม้ในการแบ่งแยกผู้คน"
เขาชี้ว่า ผู้คนต่างไม่อยากกลับไปทำงานในคอกพลาสติกแบบเดิม ๆ อีกต่อไป นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยให้คุณภาพอากาศในสำนักงานดีขึ้นด้วย
นายแชนนอน ยังสนับสนุนให้ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างทองแดง และโลหะผสมทองแดง ในจุดที่ต้องมีการสัมผัสมาก เช่น ที่จับประตูหรือลิ้นชัก
เขาชี้ว่า แม้ทองแดงจะมีราคาแพงแต่ "ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มเล็งเห็นถึงความเสียหายแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ใช้วัสดุพวกนี้"
แนวโน้มในอนาคต
น.ส.เซดี มอร์แกน จากบริษัทสถาปัตยกรรม dRMM ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ในขณะที่การทำงานจากบ้านอาจเป็นมรดกที่โรคโควิด-19 ทิ้งไว้ให้แก่เรา แต่การได้มาเห็นหน้าค่าตากันในโลกแห่งความเป็นจริงก็ยังคงมีความสำคัญทางด้านจิตใจของมนุษย์
"การรับมือกับความเสี่ยง และการคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร และส่วนใหญ่มักทำกับเป็นหมู่คณะ เป็นการรวมกลุ่มระดมสมองจริง ๆ ไม่ใช่ในโลกออนไลน์..."
น.ส.ชอย ก็เห็นตรงกัน "เราไม่ควรประเมินความจำเป็นในรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่ำจนเกินไป"
"พวกเราต่างคิดถึงภาษากาย สัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ เวลาที่พูดคุย บทสนทนาที่ลื่นไหล และความเชื่อมโยงกันระหว่างพวกเรา"
August 13, 2020 at 12:20AM
https://ift.tt/31PoDoY
โควิด-19 จะทำให้บ้านและสำนักงานเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร - บีบีซีไทย - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2MvaNkz
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 จะทำให้บ้านและสำนักงานเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร - บีบีซีไทย - บีบีซีไทย"
Post a Comment